อ้างอิงจาก : พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต)
เลี้ยงลูกให้ถูกเพศ
การพัฒนาความรู้สึกเป็นหญิงหรือชายของเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความละเอียดอ่อน โดยมีองค์ประกอบหลักๆ คือ
1. องค์ประกอบทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งที่ติดตัวเด็กมาทางกายตามธรรมชาติ เช่น ลักษณะการทำงานของอวัยวะต่างๆ ระบบฮอร์โมน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าโครงสร้างเล็กๆ บางอย่างในสมองก็ยังมีส่วนในการกำหนดการรับรู้ถึงความเป็นหญิงเป็นชายด้วย
2. องค์ประกอบทางจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้จากภาวะแวดล้อมหลังคลอดและการเติบโต องค์ประกอบเหล่านี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็ก
> การอบรมเลี้ยงดู โดยทั่วไป พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจะปฏิบัติต่อเด็กหญิงและเด็กชายต่างกันตั้งแต่แรกเกิด เช่น คำพูด การสัมผัสจับต้องตัวเด็ก การเลือกเสื้อผ้า ของเล่นหรือของใช้ เป็นต้น นอกจากนั้น การสั่งสอนอบรมด้วยคำพูดและการชมเชยก็มีส่วนส่งเสริมพฤติกรรมและความชัดเจนในเพศของตนให้แก่เด็ก เช่น เป็นเด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อย เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง
> ต้นแบบที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ของเด็กนั่นเอง ทั้งธรรมชาติและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมมักหล่อหลอมให้เด็กหญิงยึดถือแม่เป็นแบบอย่าง ขณะที่เด็กชายจะเลียนแบบบทบาทจากพ่อ หลายการศึกษาพบว่าลูกที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อและแม่จะมีแนวโน้มการเกิดปัญหาพัฒนาการทางเพศเหล่านี้ต่ำกว่าเด็กๆ ที่เติบโตจากครอบครัวที่มีปัญหาความขัดแย้ง การถูกทอดทิ้งหรือปัญหาความรุนแรง
> สภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโต เช่น เด็กหญิงบางคนที่เติบโตท่ามกลางเด็กชายทั้งหมด อาจได้รับอิทธิพลต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมให้ต้องการแสดงออกแบบเพศชาย ขณะที่เด็กชายบางคนมีพี่น้องหรือญาติผู้ใกล้ชิดห้อมล้อมเป็นผู้หญิงหมดอาจทำให้ท่าทีพฤติกรรมคล้ายผู้หญิงมากขึ้น เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ เท่านั้น
หนูเป็นหญิง..หรือเป็นชาย...
จากปัจจัยต่างๆข้างต้น จะนำไปสู่นามธรรมความรู้สึกของเด็กๆ ว่าตนมีความเป็นหญิงหรือชาย ความรู้สึกเช่นนี้จะแสดงออกเป็นลักษณะการแต่งกาย การพูด หรือพฤติกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ถูกกำหนดด้วยอวัยวะเพศภายนอกที่มองเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิดเพียงเท่านั้น แต่ยังมีที่มาซึ่งเป็นแก่นแท้ภายในจิตใจของคนๆ นั้นเป็นแรงผลักดันเกี่ยวข้องสำคัญอีก 3 ส่วน คือ
1. ความสำนึกว่าตนเองเป็นหญิงหรือชาย เป็นความรู้สึกนึกคิดในใจของคนๆ นั้นหรือการมองตนเองว่าเป็นเพศใด ความรู้สึกนี้จะค่อยเกิดขึ้น หรือเริ่มพัฒนามาตั้งแต่วัยทารก จนเป็นความรู้สึกที่ชัดเจนแน่นอนเมื่ออายุ 2-3 ปี
โดยจะสังเกตได้ว่าเด็กวัยนี้มักจะบอกเพศที่แท้จริงของตนว่าเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย
2. พฤติกรรมประจำเพศ การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดบทบาทหรือพฤติกรรมประจำเพศ โดยวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะแบ่งบทบาทหญิงชายออกจากกัน เช่น เด็กหญิงถูกกำหนดว่าต้องพูดจามีหางเสียง
ลงท้ายด้วย “คะ ขา” มีน้ำเสียงอ่อนโยน นุ่งกระโปรงได้และเหมาะกับสีชมพูมากกว่า ขณะที่เด็กชายควรพูดลงท้ายด้วยคำว่า “ครับ” มีน้ำเสียงและบุคลิกเข้มแข็งกว่าเด็กหญิง โดยเด็กหญิงและชายจะเรียนรู้และแบ่งแยกพฤติกรรมทางเพศรวมทั้งมีการแสดงออกเหล่านี้ที่ลงตัวชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 5 ขวบ
3. ความพึงพอใจทางเพศและการเลือกเพศของคู่ครอง โดยทั่วไป เมื่อเติบโตจนเป็นวัยรุ่นหรือใกล้ถึงวัยเจริญพันธุ์ ความสนใจทางเพศจะเริ่มเกิดขึ้น มนุษย์มักจะมีความสนใจเพศตรงข้ามเพื่อก้าวสู่การเป็นคู่ครองหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วย (heterosexuality) แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่แตกต่างไปเพราะสนใจเพศเดียวกันหรือต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน ที่มักจะคุ้นเคยกันว่าเป็นภาวะรักร่วมเพศ (homosexuality) นอกจากนั้นยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่พึงพอใจต่อการมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ทั้งเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน (bisexuality) ความต้องการเหล่านี้จะแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับสำนึกความเป็นหญิงชายหรือพฤติกรรมประจำเพศของคนๆนั้นก็ได้ นอกจากนี้ วัยรุ่นหลายคน ก็ยังเลือกที่จะปิดบังเรื่องความพึงพอใจทางเพศที่แตกต่างจากที่พ่อแม่คาดหวังไว้เป็นเรื่องส่วนตัว
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศ
เมื่อทราบถึงที่มาของพัฒนาการทางเพศและความรู้สึกที่แตกต่างของหญิง ชาย แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มมองเห็นโอกาสชัดเจนขึ้นในการเตรียมการและเลี้ยงดูลูกรักให้เติบโตอย่างมีความสุข มีบทบาทและพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม โดยมีแนวทางดังนี้
> มีการฝากครรภ์ที่ถูกต้องเพื่อการป้องกันไม่ให้มีปัญหาทางกาย ที่รบกวนการพัฒนาลูกน้อยในครรภ์ และแม่ได้รับความรู้ในการดูแลตนเอง ลดความเสี่ยงจากการรับสารเคมีหรือฮอร์โมนเพศจากภายนอกที่เพิ่มความเสี่ยง
> หากลูกเกิดมามีอวัยวะเพศก้ำกึ่งเป็น 2 นัย ควรรีบปรึกษาแพทย์ ให้แน่ชัดว่าเด็กควรถูกเลี้ยงให้เป็นเด็กหญิงหรือชาย จึงจะเหมาะสมที่สุดกับธรรมชาติที่ได้มา การตัดสินใจนี้ควรเป็นไปโดยเร็วที่สุดภายในขวบปีแรก เพื่อการเลี้ยงดูที่ชัดเจน ไม่สับสนซึ่งจะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางเพศและจิตใจที่สมบูรณ์
> พ่อแม่ควรเลี้ยงเด็กตามเพศจริงที่เกิดมา คือ เด็กหญิงควรเลี้ยงแบบเด็กหญิง เด็กชายควรเลี้ยงแบบเด็กชาย ไม่เลี้ยงลูกตามความปรารถนาเพียงเพื่อชดเชยความหวังของพ่อแม่ เช่น พ่อแม่ที่มีลูกชายจำนวนมากแล้วต้องการมีลูกสาวมาก จึงจับลูกชายคนสุดท้องแต่งตัวเป็นหญิง เลี้ยงแบบเด็กหญิงจนเด็กเกิดบทบาททางเพศที่เป็นปัญหาเมื่อเติบโตขึ้น
> พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในพ่อแม่และสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างบทบาททางเพศได้
> พ่อ แม่ ลูก ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีและอบอุ่น เด็กมีโอกาสใกล้ชิด ใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้การปฏิบัติที่เหมาะสมต่อกันในครอบครัว อีกทั้งลูกยังได้ตระหนักถึงการมีพ่อแม่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาที่ดีที่สุดในทุกเรื่อง นอกจากนี้ หากลูกมีปัญหาใดๆ รบกวนต่อการมีบทบาททางเพศที่เหมาะสมหรืออื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาหรือกุมารแพทย์ เพื่อส่งเสริมให้ลูกมีทุกย่างก้าวการเติบโตที่สมบูรณ์ที่สุดต่อไป
ข้อดีของการเล่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น